หากพูดถึงการเดินทางที่ประหยัดและสะดวกแล้วละก็คงหนีรถไฟไปไม่ได้ เราเลยได้รวบรวมวิธีจองตั๋วรถไฟไว้ให้ทุกคนได้อ่านกัน พอพูดถึงรถถึงแม้จะใช้เวลาในเดินทางนานสักหน่อยแต่แลกกับราคาที่ถูงลงและบรรยากาศระหว่างทางที่น่าหลงไหล เป็นใครก็ต้องยอมแลกกันใช่ไหมละครับ รถไฟไทยอยู่คู่กับเรามานานมาก ๆ เส้นทางเหนือจรดใต้ อีสาน ตะวันออก ตะวันตก ครบทั่วทุกมุมของไทยเลย ทำเลสถานีรถไฟแต่ละที่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การเดินทางกับรถไฟนั้นถูกเลือกใช้จากหลายต่อหลายคน อาจจะเป็นเพราะมีรถโดยสารในการเดินทางต่อ ไกล้สถานที่ท่องเที่ยวหรือเป็นทางผ่านไปยังจุดหมายต่อไป ปัจจุบันการจองตั๋วรถไฟมีด้วยกัน 3 วิธี คือ จองตั๋วที่สถานีรถไฟทั่วประเทศ จองตั๋วรถไฟออนไลน์ (e-TSRT) จองตั๋วรถไฟผ่านการโทรศัพท์ (สายด่วน 1690) จะเห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้การจองตั๋วรถไฟสะดวกมากยิ่งขึ้น สำหรับคนที่ไม่สะดวกหรืออยู่ไกลจากสถานีรถไฟต่าง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องไปจองที่สถานีรถไฟอย่างเดียว สามารถใช้วิธีอื่นที่เหมาะสมและสะดวกกับเราได้ อีกทั้งยังมีเวลาในการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย และการจองตั๋วรถไฟจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ไปเลย เมื่อวันนี้เรามีข้อมูลสำหรับการจองตั๋วรถไฟในแต่ละวิธีมาให้อ่านกัน ใครสะดวกวิธีไหนก็นำมาใช้ในการจองตั๋วรถไฟเพื่อเดินทางได้เลย ก่อนอื่นเราต้องมาเช็คข้อมูลต่าง ๆ ของการเดินทางด้วยรถไฟก่อน เพื่อทำความเข้าใจและจะง่ายขึ้นเมื่อต้องจองตั๋วรถไฟเพื่อที่จะเดินทาง สิ่งที่เราต้องรู้เมื่อจะจองตั๋วรถไฟนั้นประกอบไปด้วย สถานีต้นทางและปลายทางที่เราต้องการเดินทาง รอบเวลาเดินรถ ประเภทรถและเลขขบวน สุดท้ายคือราคาค่าโดยสาร สามารถเช็คได้จากลิ้งค์ในหัวข้อด้านล่างนี้ วิธีตรวจสอบ สถานีต้นทางและปลายทาง รอบเวลาเดินรถ ประเภทรถและเลขขบวน ราคาค่าโดยสาร สามารถตรวจสอบทุกอย่างได้ในลิ้งค์เดียว คลิ๊กที่นี่ หรือ http://www.railway.co.th/checktime/checktime.asp 1. เลือกสถานีต้นทางและสถานีปลายทางที่ต้องการเดินทาง จากนั้นกดปุ่ม “ตรวจสอบ” 2. ต่อมาหน้าเว็บจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเลขขบวนรถ ประเภทรถและเวลา ที่สามารถเดินทางจากสถานีต้นทางถึงปลายทางที่เราเลือกได้ ที่นี้ให้เราเลือกขบวนรถที่อยากจะเดินทางด้วย แล้วก็ปุ่ม “ตรวจสอบ” ในช่องราคา ข้อควรรู้ : ราคา ความเร็วและสถานีที่หยุดรถนั้นจะเรียงลำดับตามนี้ ราคามากไปน้อย/เวลาเร็วไปช้า ด่วนพิเศษ CNR > ด่วนพิเศษ > ด่วน > เร็ว > ธรรมดา 3. หน้าต่อมาจะแสดงราคาในแต่ละชั้นของรถไฟขบวนนั้น ในหน้านี้มีรูปภาพที่นั่งในแต่ละชั้นให้ดูด้วย ใครชอบแบบไหนจำชั้นของรถไฟไว้เลย แค่นี้ก็เสร็จสิ้นขั้นตอนการเช็ค สถานีต้นทางและปลายทาง รอบเวลาเดินรถ ประเภทรถและเลขขบวนและราคาค่าโดยสารแล้ว หากใครอยากรู้ว่าขบวนที่เราขึ้นนั้นหยุดที่สถานีไหน ในเวลาไหนบ้าง สามารถเช็คได้เหมือนกัน โดยดูภาพจากข้อ 2 โดยให้กดเลือกที่ชื่อขบวนในช่อง กำหนดเวลาเดินรถ ที่เป็นข้อความสีฟ้านั้นแหละครับ นอกจากนี้ก็ยังสามารถตรวจสอบแบบแยกเป็นสายเดินทางทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับได้ (แต่เช็คในแบบที่กล่าวมาข้างบนจะมีข้อมูลถ้วนครบกว่า) ให้เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งละกัน สายเหนือ : กำหนดเวลาเดินรถสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ : กำหนดเวลาเดินรถสายตะวันออกเฉียงเหนือ สายใต้ : กำหนดเวลาเดินรถสายใต้ สายตะวันออก : กำหนดเวลาเดินรถสายตะวันออก สายชานเมือง : กำหนดเวลาเดินรถสายชานเมือง สายวงเวียนใหญ่ – มหาชัย : กำหนดเวลาเดินรถสายวงเวียนใหญ่ – มหาชัย สายบ้านแหลม – แม่กลอง : กำหนดเวลาเดินรถสายบ้านแหลม – แม่กลอง เมื่อได้ข้อมูลของขบวนรถที่ต้องการมาแล้ว ต่อมาก็ถึงเวลาจองตั๋วรถไฟกันนนน สะดวกวิธีไหนเลื่อนไปอ่านวิธีนั้นได้เลย หรืออยากทราบในทุกวิธีก็มาเริ่มกันตรงนี้ได้เลย 1. จองตั๋วที่สถานีรถไฟทั่วประเทศ วิธีคลาสสิกที่เราใช้กันเป็นประจำเมื่อมีเวลาไปที่สถานีรถไฟ คือการจองที่สถานีรถไฟนั้นเลย สะดวก ง่าย มีรอบการเดินทางของรถไฟให้ได้เช็ค และสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ของสถานีรถไฟนั้น ๆ หากไม่เข้าใจกับข้อมูลหรือวิธีต่าง ๆ การจองตั๋วรถไฟที่สถานีสามารถจองได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร โดยสามารถจองได้ที่สถานีรถไฟทั่วประเทศเลย บ้านใครอยู่ไกล้ที่ไหน ใครสะดวกไปที่สถานีไหน ก็ตรงดิ่งไปยังสถานีนั้นเลย วิธีง่าย ๆ เมื่อเราจะซื้อตั๋วที่ช่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร แจ้งรายละเอียดการเดินทาง เช่นวันเดินทาง สถานีปลายทาง ชั้นของรถไฟ และเวลากับพนักงาน ณ ช่องจำหน่ายตั๋วโดยสารที่สถานีรถไฟ รอพนักงานเช็คที่นั่งว่าง เมื่อที่นั่งว่างก็จะออกตั๋วโดยสารให้ แต่หากที่นั้งเต็มพนักงานจะเสนอตัวเลือกอื่นให้ จ่ายเงินและรับตั๋วโดยสารรถไฟ ตรวจเช็คข้อมูลต่าง ๆ บนตั๋วให้ถูกต้องเช่นสถานีปลายทาง วันเดินทาง ชั้น-ประเภทตู้ เลขที่นั่ง ให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันความผิดพลาด 2. จองตั๋วรถไฟออนไลน์ (e-TSRT) การจองตั๋วรถไฟออนไลน์เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สร้างความสะดวกมากขึ้น สามารถจองตั๋วได้เสร็จสิ้นจากหน้าจอคอมของเราเลย แทบไม่ต้องลุกไปไหนก็ได้ตั๋วรถไฟมาครอบครองแล้ว ระบบการจองตั๋วรถไฟออนไลน์นี้จะเรียกว่า e-TSRT (Electronic Ticket State Railway of Thailand) เรามาดูวิธีการจองตั๋วออนไลน์กันเลยดีกว่า ก่อนอื่นต้องเข้าเว็บ e-TSRT ครับ คลิ๊กที่นี่ หรือ www.thairailwayticket.com/eTSRT/ ข้อควรรู้ การจองตั๋วออนไลน์จะจองตั๋วล่วงหน้าได้ก่อนรถออก 2 ชั่วโมง ถึง 60 วัน จองตั๋วรถไฟได้เพียง 3 สาย คือ สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือและสายใต้ ต้องพิมพ์ตั๋วออนไลน์ที่ได้มาแสดงตั๋วกับเจ้าหน้าที่ในวันเดินทางด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเดินทางได้ จองได้สูงสุด 4 ที่นั่ง ที่นั่งในเว็บ www.thairailwayticket.com/eTSRT/ เป็นเพียงที่นั่งที่สำรองมาเพื่อการใช้ในระบบออนไลน์ จึงมีที่นั่งน้อยกว่าความเป็นจริง หากที่นั่งเต็มให้ใช้วิธีการจองตั๋วแบบอื่นหรือโทรสอบถามสายด่วน 1690 1. ต้องสมัครสมาชิกก่อน โดยกด “สมัครสมาชิก” ได้ที่ด้านบนมุมขวาเลย ให้กรอกข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วนตามที่มีช่องให้ระบุ เมื่อกรอกเสร็จแล้วก็ติ๊กถูกในช่องคู่มือและข้อตกลงด้วยนะครับ แล้วกดปุ่ม “ตกลง” ได้เลย 2. เมื่อมีบัญชีสมาชิกแล้วก็ให้ลงชื่อเข้าสู่ระบบ โดยใช้อีเมล์กับรหัสผ่านที่ได้ทำการกรอกไว้ในข้อที่แรก จากนั้นกดปุ่ม “ลงชื่อเข้าใช้งาน” 3. แล้วก็จะกลับมาหน้าแรกที่เราได้เข้าเว็บไปเมื่อสักครู่ ที่นี้ก็เริ่มขั้นตอนจองตั๋วจริง ๆ แล้ววววว ขั้นตอนแรกเลือกสายรถไฟก่อนครับ จะเดินทางไปสายไหน มีสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ จากนั้นเลือกต้นทางและปลายทาง วันที่เดินทาง จำนวนคนเดินทาง(สูงสุด 4 คน) เมื่อเลือกทุกอย่างครบแล้วกดปุ่ม “ค้นหาขบวนรถ” ได้เลย 4. เว็บจะแสดงหน้าข้อมูลการเดินทาง ให้เราเลือกขบวนรถและเวลาที่ต้องการเดินทางแล้วกดปุ่มสีเขียว “เลือกตู้” เพื่อทำขั้นตอนต่อไป 5. หน้านี้จะแสดง ชั้นของรถไฟ ประเภทตู้ เครื่องประอากาศและค่าโดยสาร ให้เราทำการเลือกตู้ที่ต้องการ ตู้ไหนว่างจะขึ้นปุ่มสีเขียว ส่วนตู้ที่ไม่ว่างจะไม่สามารถกดได้ จุดสีเขียวในช่องปรับอากาศนั้นบอกถึงว่าตู้นั้นมีเครื่องปรับอากาศหรือไม่ เมื่อได้ตู้ที่ต้องการแล้วกดปุ่ม “ที่นั่งว่าง” 6. หน้านี้จะให้กรอกข้อมูลของผู้เดินทาง เพศ เลขบัตรประชาชน และชื่อ-สกุล กรอกให้ถูกต้องนะครับป้องกันการเกิดปัญหาภายหลัง หากเดินทาง 4 คนก็ต้องกรอกข้อมูลของผู้เดินทางแต่ละคนแยกกันไป เสร็จแล้วก็เลือกที่นั่ง จะมีให้เลือกเองกับเลือกอัตโนมัติ แน่นอนว่าทุกคนอยากเลือกเองอยู่แล้วใช่ไหมครับ 7.เมื่อมาถึงหน้าเลือกที่นั่งก็จะเห็นแผนผังรถพร้อมเลขที่นั่ง ที่นั่งที่ว่างนั้นจะขึ้นสีเขียว ส่วนที่ไม่ว่าง/ไม่เปิดให้จองจะเป็นสีเทา หากใครโอเคกับที่นั่งในระบบตรงนี้ก็กดที่นั่งสีเขียวที่ว่างได้เลยครับ จากนั้นกด “ยืนยันการเลือกที่นั่ง” หากต้องการเปลี่ยนที่นั่งให้กดปุ่ม “เลือกที่นั่งใหม่” เราจะเห็นได้ว่าที่นั่งที่ว่างนั้นเหลือน้อยมาก ไม่ต้องตกใจครับ เหตุผลที่ที่นั่งเหลือน้อยนั้นเพราะว่าที่นั่งสำหรับจองตั๋วรถไฟออนไลน์ถูกแบ่งเพียงมาไม่กี่ที่นั่ง ทำให้มีให้จองได้น้อย หากใครไม่ต้องการที่นั่งที่มีในระบบก็สามารถใช้วิธีการจองตั๋วด้วยวิธีอื่นได้ หรือโทรสอบถามสายด่วนเพื่อตรวจสอบว่ามีที่นั่งที่ว่างเหลือจริง ๆ อีกกี่ที่ 8.พอเลือกที่นั่งเสร็จสิ้นแล้วก็จะมาถึงขั้นตอนการชำระเงิน การชำระเงินรับรองบัตรวีซ่า มาสเตอร์ การ์ด และเจซีบี ถ้าใครมีบัตรเหล่านี้อยู่แล้ว สามารถกดปุ่ม “ชำระเงิน” ได้เลย 9. อย่าลืมตรวจสอบจำนวนค่าโดยสาร และจะมีค่าบริการด้วย รถไฟชั้น 1 ค่าบริการ 40 บาท/ที่นั่ง , รถไฟชั้น 2 ค่าบริการ 30บาท/ที่นั่ง , รถไฟชั้น 1 ค่าบริการ 20บาท/ที่นั่ง เมื่อเช็คจำนวนเงินที่ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว กดปุ่ม “ยืนยันการชำระเงิน” ได้เลย 10. มาถึงหน้านี้ให้กรอกข้อมูลบัตรเครดิต Card Number : ใส่เลข 16 ตัว บนบัตรเครดิต Expiry Date (mm/yyyy) : วันหมดอายุที่ปรากฏบนบัตร Name as shown on card : ชื่อผู้ถือบัตร Issuer Bank Country : อันนี้เลือกเป็น Thailand (THA) CVV2/CVC2 : กรอกเลข 3 หลักบนบัตร(จะอยู่หลังบัตร) เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วน จากนั้นกดปุ่ม “Submit” ได้เลยครับ เมื่อการชำระเงินเรียบร้อยก็จะขึ้นข้อความบอกว่า “การสำรองที่นั่งเรียบร้อย/Booking Success” ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยในการจองตั๋วรถไฟออนไลน์ 11. ตั๋วรถไฟจะถูกส่งไปใน E-mail ที่เราสมัครไว้ หรือกลับมาที่หน้าแรกของเว็บแล้วเลือกเมนู “ประวัติการจอง” ด้านบน เพื่อดูรายละเอียดและพิมพ์ตั๋วก็ได้เหมือนกัน เมื่อถึงวันเดินทางอย่าลืมพิมพ์ตั๋วแล้วนำติดตัวขึ้นรถไฟไปด้วยนะครับ เพื่อใช้แสดงกับเจ้าหน้าที่ในวันเดินทางไม่งั้นเดินทางไม่ได้ อันนี้สำคัญเลย หากมีปัญหาสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ วิธีใช้งานอื่น ๆ : Online Help โทรศัพท์ : 063-205-3138 และ 063-205-3139 อีเมล์ : info@thairailwayticket.com เฟสบุ๊ค : thairailwayticket.com 3. จองตั๋วรถไฟผ่านการโทรศัพท์ (สายด่วน 1690) หลายคนอาจไม่สะดวกในการไปจองที่สถานีรถไฟ การโทรจองก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้จองตั๋วได้ง่ายขึ้น สามารถโทรจองได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่เบอร์ 1690 ข้อควรรู้ : โทรจองก่อนวันเดินที่อย่างน้อย 5 วัน จองได้ไม่เกินครั้งละ 10 ที่นั่ง จำเป็นต้องไปรับตั๋วที่สถานีรถไฟที่กำหนดก่อนเวลา 22:00 น. ของอีกวัน ไม่งั้นตั๋วจะถูกยกเลิกอัตโนมัติ วิธีโทรจองตั๋วผ่านโทรศัพท์ กดโทรออกเบอร์ 1690 แจ้งเจ้าหน้าที่ถึงรายละเอียดและวันเดินทาง สถานีปลายทาง ชั้นของรถไฟ และเวลากับพนักงาน รอการตรวจเช็คที่นั่งว่างจากพนักงาน และยืนยันการจอง ไปรับตั๋วและชำระเงิน ณ สถานีรถไฟที่กำหนดก่อนเวลา 22:00 น. ของวันรุ่งขึ้น สถานีรถไฟที่กำหนดให้ไปรับตั๋วได้คือ กรุงเทพ , สามเสน , ชุมทางบางซื่อ 1 , 2 , บางเขน , หลักสี่ , ดอนเมือง และรังสิต มักกะสัน , แม่น้ำ , คลองตัน , หัวหมาก , บ้านทับช้าง , ลาดกระบัง และหัวตะเข้ ธนบุรี , บางบำหรุ , ชุมทางตลิ่งชัน , ศาลาธรรมสพน์ และศาลายา วงเวียนใหญ่ และตลาดพลู เมื่อไปรับตั๋วแล้วอย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ บนตั๋วให้เรียบร้อยก่อนออกจากสถานีด้วย รถไฟไทยนอกจากจะพาเราไปยังสถานที่ต่าง ๆ ด้วยงบที่ประหยัดแล้วยังอำนวยความสะดวกให้เราอีกมากมายเลย โดยเฉพาะการจองตั๋วที่พยายามเปิดบริการให้มีหลายช่องทาง เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และเดินทางได้ง่ายขึ้น รายละเอียดเพิ่มเติม : การรถไฟแห่งประเทศไทย แชร์ไปเล้ยยยทวีตส่งไลน์ เป็นกันไงบ้าง คอมเม้นต์ได้เล้ยยย